ภูมิปัญญาไทย ตรงกับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Wisdom หมายถึง ความรู้ความสามารถ วิธีการผลงานที่คนไทยได้ค้นคว้า รวบรวม และจัดเป็นความรู้ ถ่ายทอด ปรับปรุง จากคนรุ่นหนึ่งมาสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง จนเกิดผลิตผลที่ดี งดงาม มีคุณค่า มีประโยชน์ สามารถนำมาแก้ปัญหาและพัฒนาวิถีชีวิตได้แต่ละหมู่บ้าน แต่ละชุมชนไทย ล้วนมีการทำมาหากินที่สอดคล้องกับภูมิประเทศ มีผู้นำที่มีความรู้ มีฝีมือทางช่าง สามารถคิดประดิษฐ์ ตัดสินใจแก้ปัญหาของชาวบ้านได้ ผู้นำเหล่านี้ เรียกว่า ปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้ทรงภูมิปัญญาไทย
ลักษณะของภูมิปัญญาไทย
- ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเป็นทั้งความรู้ ทักษะ ความเชื่อ และพฤติกรรม
- ภูมิปัญญาไทยแสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน คนกับธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และคนกับสิ่งเหนือธรรมชาติ
- ภูมิปัญญาไทยเป็นองค์รวมหรือกิจกรรมทุกอย่างในวิถีชีวิตของคน
- ภูมิปัญญาไทยเป็นเรื่องของการแก้ปัญหา การจัดการ การปรับตัว และการเรียนรู้ เพื่อความอยู่รอดของบุคคล ชุมชน และสังคม
- ภูมิปัญญาไทยเป็นพื้นฐานสำคัญในการมองชีวิต เป็นพื้นฐานความรู้ในเรื่องต่างๆ
- ภูมิปัญญาไทยมีลักษณะเฉพาะ หรือมีเอกลักษณ์ในตัวเอง
- ภูมิปัญญาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อการปรับสมดุลในพัฒนาการทางสังคม
ภูมิปัญญาไทยสามารถจัดแบ่งได้กี่สาขา
จากการศึกษาพบว่า มีการกำหนดสาขาภูมิปัญญาไทยไว้อย่างหลากหลายขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และหลัก เกณฑ์ต่างๆ ที่หน่วยงาน องค์กร และนักวิชาการแต่ละท่านนำมากำหนด ในภาพรวมภูมิปัญญาไทยสามารถแบ่งได้เป็น 10 สาขาดังนี้
- 1. สาขาเกษตรกรรม หมายถึง ความสามารถในการผสมผสานองค์ความรู้ ทักษะ และเทคนิคด้านการเกษตรกับเทคโนโลยี โดยการพัฒนาบนพื้นฐานคุณค่าดั้งเดิม ซึ่งคนสามารถพึ่งพาตนเองในภาวการณ์ต่างๆ ได้
- 2. สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม หมายถึง การรู้จักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการแปรรูปผลิตผล เพื่อชะลอการนำเข้าตลาด เพื่อแก้ปัญหาด้านการบริโภคอย่างปลอดภัย ประหยัด และเป็นธรรม อันเป็นกระบวนการที่ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้
- 3. สาขาการแพทย์แผนไทย หมายถึง ความสามารถในการจัดการป้องกันและรักษาสุขภาพของคนในชุมชน โดยเน้นให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองทางด้านสุขภาพและอนามัยได้
- 4. สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หมายถึง ความสามารถเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทั้งการอนุรักษ์ การพัฒนา และการใช้ประโยชน์จากคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและ ยั่งยืน
- 5. สาขากองทุนและธุรกิจชุมชน หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการด้านการสะสมและบริการกองทุน และธุรกิจในชุมชน ทั้งที่เป็นเงินตราและโภคทรัพย์ เพื่อส่งเสริมชีวิตความเป็นอยู่ของสมาชิกในชุม
- 6. สาขาสวัสดิการ หมายถึง ความสามารถในการจัดสวัสดิการในการประกันคุณภาพชีวิตของคน ให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
- 7. สาขาศิลปกรรม หมายถึง ความสามารถในการผลิตผลงานทางด้านศิลปะสาขาต่างๆ เช่น จิตรกรรม ประติมากรรม วรรณกรรม ทัศนศิลป์ คีตศิลป์ ศิลปะมวยไทย เป็นต้น
- 8. สาขาการจัดการองค์กร หมายถึง ความสามารถในการบริหารจัดการดำเนินงานขององค์กรชุมชนต่างๆ ให้สามารถพัฒนา และบริหารองค์กรของตนเองได้ตามบทบาท และหน้าที่ขององค์การ เช่น การจัดการองค์กรของกลุ่มแม่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มประมงพื้นบ้าน เป็นต้น
- 9. สาขาภาษาและวรรณกรรม หมายถึง ความสามารถผลิตผลงานเกี่ยวกับด้านภาษาทั้งภาษาถิ่น ภาษาโบราณ ภาษาไทยและการใช้ภาษา ตลอดทั้ง ด้านวรรณกรรมทุกประเภท เช่น การจัดทำสารานุกรมภาษาถิ่น การปริวรรต หนังสือโบราณ การฟื้นฟูการเรียนการสอนภาษาถิ่นของท้องถิ่นต่างๆ เป็นต้น
- 10. สาขาศาสนาและประเพณี หมายถึง ความสามารถประยุกต์และปรับใช้หลักธรรมคำสอนทางศาสนา ความเชื่อ และประเพณีดั้งเดิมที่มีคุณค่าให้เหมาะสมต่อการประพฤติปฏิบัติ ให้บังเกิดผลดีต่อบุคคลและสิ่งแวดล้อม
ความสำคัญของภูมิปัญญาไทยต่อการเสริมสร้างสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
ทุกๆชุมชนมีวิถีการดำรงชีวิตเป็นของตนเอง และมีสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ทำให้สมาชิกในชุมชนมีภูมิปัญญาที่แตกต่างกันออกไป โดยภูมิปัญญาเหล่านั้นได้ผ่านการลองผิดลองถูก และกลายมาเป็นภูมิปัญญาในการสร้างเสริมสุขภาพ เช่น การรับประทานอาหารที่ถูกหลักโภชนาการ หรือ การประคบสมุนไพรรักษาอาการปวดเมื่อยเป็นต้น ดังนั้นภูมิปัญญาไทยจึงมีความสำคัญต่อสุขภาพในเรื่องของการบำบัด บรรเทา รักษาอาการเจ็บป่วย การป้องกันโรค และการเสริมสร้างสุขภาพ แนวทางการใช้ภูมิปัญญาไทยเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพและการป้องกันโรคในชุมชน
การ แพทย์แผนไทย หมายถึง ปรัชญา องค์ความรู้ และวิถีปฏิบัติ เพื่อการดูแลสุขภาพ และการบำบัดรักษาโรค ความเจ็บป่วยของคนไทย แบบดั้งเดิม สอดคล้องกับขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย และวิถีชีวิตคนไทย โดยวิธีการปฏิบัติของการแพทย์แผนไทย ประกอบด้วยการใช้สมุนไพร หัตถบำบัด การรักษากระดูกแบบดั้งเดิม การใช้พุทธศาสนา หรือพิธีกรรม เพื่อดูแลรักษาสุขภาพจิต ธรรมชาติบำบัด ซึ่งได้จากการสั่งสม ถ่ายทอดประสบการณ์อย่างเป็นระบบ โดยการบอกเล่า การสังเกต การบันทึก และการศึกษาผ่านสถาบันการศึกษาด้านการแพทย์แผนไทย ภูมิปัญญาในการแพทย์แผนไทย
การแพทย์แผนไทย เป็นการแพทย์แบบองค์รวม มีองค์ความรู้ ครอบคลุมการบำบัดรักษาโรคอย่างครบถ้วน คือ
- รู้การเกิดของโรค รู้สาเหตุของโรคจากปัจจัยต่างๆ
- รู้จักโรค ทราบถึงอาการโรค และชื่อสมมติของโรคตามอาการ
- รู้จักยารักษาโรค ทราบถึงสรรพคุณและวิธีปรุงยา
- รู้วิธีรักษาโรค ทราบว่ายาชนิดใด วิธีรักษาแบบใด เหมาะสำหรับโรคใดๆ
ความรู้ทั้ง 4 จึงเป็น หลักปฏิบัติในการวิเคราะห์ และบำบัดรักษาโรคของคนไทย ซึ่งก่อให้เกิดคุณค่าทางภูมิปัญญา ดังนี้
-ครอบคลุมองค์ความรู้อย่างครบถ้วน ทั้งการป้องกันโรค การวินิจฉัยโรค และบำบัดโรค
-มีความหลากหลายในด้านวิธีการป้องกัน และรักษาโรค
-มีศักยภาพในการเลือกสรรวัตถุดิบ ที่มีในธรรมชาติ จากท้องถิ่นใกล้ตัว มาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรค
-เป็นวิถีแห่งธรรมชาติบำบัด ก่อให้เกิดพิษน้อย อิงต่อสิ่งแวดล้อม
-พัฒนาเพื่อระบบการพึ่งตนเอง เนื่องจากใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น ไม่มีเทคนิคซับซ้อน ไม่สิ้นเปลือง
-ตั้งอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรมไทย ความเชื่อของคนไทย ให้ผลทั้งการรักษาร่างกาย และจิตใจ
การบำบัดโรคแผนไทย
การบำบัดโรคตามแพทย์แผนไทย มักใช้วิธีการหลายวิธี เพื่อให้ผลรักษาทั้งทางร่างกาย และจิตใจ เช่น การใช้ธรรมชาติบำบัด กายภาพบำบัด จิตบำบัด และการใช้ยา
การใช้สมุนไพร
มี การใช้สมุนไพรห่อด้วยผ้าเป็นลูก เรียกว่า ลูกประคบ นำลูกประคบไปนึ่งให้ร้อนแล้วนำมาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย เคล็ด ขัดยอกจะช่วยบรรเทาอาการปวดได้ซึ่งสมุนไพรที่ใช้ทำลูกประคบส่วนใหญ่นั้นจะมัน น้ำมันหอมระเหย เมื่อนึ่งให้ร้อนแล้วแล้วน้ำมันหอมระเหยซึ่งเป็นตัวยาจะออกมากับไอน้ำและ ความชื้น และเมื่อประคบตัวยาเหล่านั้นจะซึมเข้าผิวหนัง ช่วยรักษาอาการเคล็ด ขัดยอก ลดอาการบวมอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ นอกจากนี้ความร้อนจากลูกประคบยังช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ช่วยให้ตัวยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น อีกทั้งกลิ่นของน้ำมันหอมระเหยยังช่วยให้คลายเครียด เกิดความสดชื่นอีกด้วย
การนวด
เป็น ภูมิปัญญาอันล้ำค่าในการรักษาโรค การสร้างเสริมสุขภาพร่างกายและจิตใจของคนไทย ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และจัดเป็นวัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยที่แสดงถึงการดูแลสุขภาพกันภายในครอบรัวเช่น ภรรยานวดให้สามี ลูกนวดให้ปู่ย่าตายาย โดยอวัยวะต่างๆ เช่น ศอก เข่า เท้า นวดให้กัน อีกทั้งยังมีการพัฒนาโดยใช้อุปกรณ์ช่วยในการนวด เช่น ไม้กดท้อง นมสาว การนวดไทย แบ่งออกได้เป็น 2 แบบ ได้แก่ การนวดแบบราชสำนัก และการนวดแบบเชลยศักดิ์ ประโยชน์ของการนวดไทยมีผลดีต่อสุขภาพในหลายๆด้าน เช่น การกระตุ้นระบบประสาท เพิ่มประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบไหลเวียนโลหิตและน้ำเหลือง ลดการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ และผ่อนคลายความตึงเครียดทางจิตใจ
การบริหารร่างกาย
เป็น ภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยเกิดขึ้นจากการสิบทอดบอกเล่าต่อ ๆ กันมาของนักบวช นักพรต พระสงฆ์ หรือชาวพุทธที่นิยมนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งมีความแตกต่างกับท่าโยคะของอินเดีย โดยเป็นท่าที่ไม่ผาดโผน หรือฝืนร่างกายจนเกินไป บุคคลทั่วไปสามารถทำได้ และเมื่อปฏิบัติอย่างถูกต้องจะช่วยรักษาอาการปวดเมื่อย ช่วยให้การเคลื่อนไหวของแขน ขา หรือข้อต่อต่างๆ เป็นไปอย่างคล่องแคล่ว ทำให้เลือดหมุนเวียนได้ดี สร้างสมาธิ ผ่อนคลายความเครียด และเพิ่มประสิทธิภาพของการหายใจ
การใช้พิธีกรรมความเชื่อ
สวด มนต์ และภาวนาเพื่อการรักษาโรค เป็นวิถีชีวิตและความเชื่อ ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของชาวไทยที่นิยมปฏิบัติสืบต่อกันมา จัดว่าเป็นภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยที่ช่วยสร้างเสริมสุขภาพได้เป็นอย่าง ดี โดยเฉพาะสุขภาพทางใจ เพราะการทำสมาธิสวดมนต์และภาวนาช่วยให้จิตใจที่สับสนและว่าวุ้นเกิดความสงบ มีความสุข ผ่อนคลายความเครียดมีสมาธิและเกิดปัญญา ในปัจจุบันมีการวิจัยทางการแพทย์พบว่า การสวดมนต์ ภาวนา และการทำสมาธิช่วยให้หัวใจทำงานหนักน้อยลง ส่งผลดีต่อปอด ระบบการหายใจ นอกจากนี้การนั่งสมาธินานๆ จะคลายความวิตกกังวล ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างแท้จริง
ดังนั้นการแพทย์แผนไทย จึงเป็นกรรมวิธีทางภูมิปัญญา ที่ไม่มีทางสูญสิ้นไปอย่างแน่นอน มิใช่สิ่งเก่าใช้ไม่ได้ หรือพ้นสมัย แต่ยังเป็นนวัตกรรมทางความคิด และอิงธรรมชาติ วิถีคนไทย ที่ยังก้าวต่อไปในอนาคต เพื่อคนไทยตลอดกาลนาน
ดังนั้นการแพทย์แผนไทย จึงเป็นกรรมวิธีทางภูมิปัญญา ที่ไม่มีทางสูญสิ้นไปอย่างแน่นอน มิใช่สิ่งเก่าใช้ไม่ได้ หรือพ้นสมัย แต่ยังเป็นนวัตกรรมทางความคิด และอิงธรรมชาติ วิถีคนไทย ที่ยังก้าวต่อไปในอนาคต เพื่อคนไทยตลอดกาลนาน